วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การเขียนบทความ

การเขียนบทความ
ความหมายและลักษณะของบทความนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้กล่าวถึงความหมายของบทความและลักษณะที่น่าสังเกตของบทความในหนังสือพิมพ์ไว้ พอสรุปได้ว่า บทความ หมายถึง เรื่องที่ให้สาระข้อเท็จจริง ความรู้ เสนอความคิดเห็น แตกต่างจากบันเทิงคดีบทความในหนังสือพิมพ์จะมีลักษณะที่น่าสังเกตคือ จะมีเนื้อหาไม่ยาวมากนัก ใช้ย่อหน้าสั้นๆ นำเรื่องพื้นๆที่รู้ๆ กันอยู่แล้วมาตีพิมพ์ หรือนำเรื่องเล็กๆ ที่คนมองข้ามมาเติมสีสันให้น่าอ่านบทความอาจมีการเน้นเนื้อหาที่ตัวเหตุการณ์และแนวโน้มในอนาคต ฉะนั้น บทความจึงเป็นความเรียงประเภทหนึ่งซึ่งมีจุดประสงค์หลายลักษณะ เช่น เพื่อแสดงความรู้เสนอข้อเท็จจริง ความคิดเห็น ตั้งข้อสังเกต วิเคราะห์วิจารณ์ ฯลฯ โดยต้องเขียนอย่างมีหลักฐาน มีเหตุผลน่าเชื่อถือ หากมีข้อเสนอแนะใดๆ ต้องเป็นไปในทางสร้างสรรค์ประเภทของบทความเมื่อแบ่งตามเนื้อหา บทความจะแบ่งได้เป็น 11 ประเภท ได้แก่
1. บทบรรณาธิการเป็นบทความแสดงความคิดเห็นลักษณะหนึ่งที่เขียนขึ้นเพื่อเสนอแนวคิดหลักของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นๆต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
2. บทความสัมภาษณ์ เป็นบทความที่เขียนขึ้นจากการสัมภาษณ์บุคคลเกี่ยวกับความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่องหรือเกี่ยวกับชีวิตของบุคคลนั้น หรือจากการสัมภาษณ์บุคคลหลายคนในหัวข้อเดียวกัน
3. บทความแสดงความคิดเห็นทั่วๆ ไป มีเนื้อหาหลายลักษณะ เช่น หยิบยกปัญหา เหตุการณ์หรือเรื่องที่ประชาชนสนใจมาแสดงความคิดเห็น หรือผู้เขียนเสนอความคิดเห็นสนับสนุน หรือคัดค้านหรือทั้งสนับสนุนและคัดค้านความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันของคนอื่นๆ เป็นต้น
4. บทความวิเคราะห์ เป็นบทความแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งซึ่งผู้เขียนจะพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เผยแพร่มาแล้วอย่างละเอียด โดยแยกแยะให้เห็นส่วนต่างๆ ของเรื่องนั้นผู้เขียนเสนอความคิดและวิเคราะห์เหตุการณ์เรื่องราวนั้นอย่างละเอียด แสดงข้อเท็จจริง เหตุผลเพื่อให้ผู้อ่านได้ความรู้ ความคิดเห็นเพิ่มเติม เกิดความคิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น แบ่งเป็นบทความวิเคราะห์ข่าว และบทความวิเคราะห์ปัญหา
5. บทความวิจารณ์ เขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นในเชิงวิจารณ์เรื่องราวที่ต้องการวิจารณ์ด้วยเหตุผลและหลักวิชาเป็นสำคัญ เช่น“บทบรรณนิทัศน์” ซึ่งแสดงความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่พิมพ์ออกใหม่ เพื่อแนะนำหนังสือ“บทวิจารณ์วรรณกรรม” แสดงความคิดเห็นเชิงวิจารณ์และประเมินค่าโดยใช้หลักวิชาและเหตุผลเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักวรรณกรรมเรื่องนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง และ “บทวิจารณ์ศิลปะแขนงอื่นๆ”ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับบทวิจารณ์วรรณกรรมแต่นำผลงานที่เป็นศิลปะแขนงอื่นๆ เช่น ภาพยนตร์ ละคร ภาพเขียนดนตรี มาวิจารณ์
6. บทความสารคดีท่องเที่ยว มีเนื้อหาแนวบรรยาย เล่าเรื่องเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆที่มีทัศนียภาพสวยงามหรือมีความสำคัญในด้านต่างๆ เพื่อแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆชักชวนให้สนใจไปพบเห็นสถานที่นั้นๆ
7. บทความกึ่งชีวประวัติ เป็นการเขียนบางส่วนของชีวิตบุคคลเพื่อให้ผู้อ่านทราบ โดยเฉพาะคุณสมบัติหรือผลงานเด่นที่ทำให้บุคคลนั้นมีชื่อเสียง ประสบความสำเร็จในชีวิต เพื่อชื่นชม ยกย่อง เจ้าของประวัติและชี้ให้ผู้อ่านได้แง่คิดเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จ
8. บทความครบรอบปี มีเนื้อหาแนวบรรยาย เล่าเรื่อง เกี่ยวกับเรื่องราว เหตุการณ์พิธีการในเทศกาลหรือวันสำคัญ เช่น วันสำคัญทางศาสนา ทางประวัติศาสตร์ ทางวัฒนธรรม เกี่ยวกับบุคคลสำคัญเป็นต้น ที่ประชาชนสนใจเมื่อโอกาสนั้นมาถึง เช่น วันวิสาขบูชา วันคริสต์มาสเป็นต้น
9. บทความให้ความรู้ทั่วไป ผู้เขียนจะอธิบายให้ความรู้คำแนะนำในเรื่องทั่วๆไปที่ใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น มารยาทการเข้าสังคม การแต่งกายให้เหมาะแก่กาลเทศะและบุคลิกภาพเคล็ดลับการครองชีวิตคู่ เป็นต้น
10. บทความเชิงธรรมะ จะอธิบายข้อธรรมะให้ผู้อ่านทั่วๆ ไปเข้าใจได้ง่าย หรือให้คติให้แนวทางการดำเนินชีวิตตามแนวพุทธศาสนา เสนอหนทางแก้ปัญหาตามแนวพุทธปรัชญาปัจจุบันบทความลักษณะนี้มีมากขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านมีแนวทางการดำเนินชีวิตในสังคมที่วิกฤตได้อย่างปกติสุขมากขึ้น
11. บทความวิชาการ มีเนื้อหาแสดงข้อเท็จจริง ข้อความรู้ทางวิชาการเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสาขาวิชาใดวิชาหนึ่งโดยเฉพาะผู้เขียนอาจจะเสนอเฉพาะเนื้อหาสาระทางวิชาการหรือเสนอทั้งเนื้อหาสาระข้อเท็จจริงและแสดงความคิดเห็นในเชิงวิเคราะห์ วิจารณ์ก็ได้ หรืออาจเสนอผลการวิจัยการใช้ภาษาในการเขียนบทความการใช้ภาษาในการเขียนบทความควรพิจารณาใน 3 ประเด็น ได้แก่
1. ระดับภาษาการเขียนบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ควรพิจารณาใช้ระดับภาษาทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ ภาษาปากภาษาไม่เป็นทางการ ภาษากึ่งทางการ และภาษาทางการโดยผู้เขียนจะต้องเลือกใช้ระดับภาษาให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายของผู้เขียน ประเภทของบทความ เนื้อหาและกลุ่มผู้อ่านเช่น กรณีที่เขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่วๆ ไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ควรใช้ภาษาพูดในระดับไม่เป็นทางการ จนถึงภาษาพูดและภาษาเขียนระดับกึ่งทางการหากมีบางตอนหรือบางข้อความที่ต้องการแสดงอารมณ์ ประชดประชัน เหน็บแนม อย่างชัดเจนอาจจะใช้ภาษาพูดระดับภาษาปาก ที่ไม่หยาบคายก็ได้ กรณีเขียนบทความให้ความรู้ทั่วไป บทความสารคดีท่องเที่ยว ควรใช้ภาษาพูดในระดับภาษาปากเพื่อให้เกิดความเป็นกันเองกับผู้อ่าน จูงใจให้ผู้อ่านอยากอ่านและปฏิบัติตามคำแนะนำหรืออาจจะใช้ภาษาพูดในระดับไม่เป็นทางการ หรือกึ่งทางการ ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของบทความและกลุ่มผู้อ่านอีกด้วยกรณีเขียนบทความสัมภาษณ์ ควรใช้ภาษาให้เหมาะสมกับผู้ให้สัมภาษณ์ และเรื่องราวที่สัมภาษณ์รวมทั้งกลุ่มผู้อ่าน ผู้เขียนจึงสามารถเลือกใช้ระดับภาษาได้ตั้งแต่ ภาษาพูดระดับภาษาปากจนถึงภาษาเขียนระดับทางการกรณีเขียนบทความกึ่งชีวประวัติ บทความวิจารณ์วรรณกรรม บทความวิจารณ์ศิลปะแขนงอื่นๆซึ่งต้องการความน่าเชื่อถือ และให้เกียรติแก่งานวรรณกรรมหรือศิลปะ จึงควรใช้ภาษาระดับกึ่งทางการจนถึงภาษาในระดับทางการกรณีเขียนบทความเชิงธรรมะ และเชิงวิชาการ ควรใช้ภาษาเขียนกึ่งทางการจนถึงระดับทางการเพื่อให้เกิดความชัดเจน น่าเชื่อถือ อย่างไรก็ตาม หากผู้เขียนต้องการสร้างเอกลักษณ์ หรือลีลาการเขียนเฉพาะตนก็สามารถเลือกใช้ระดับภาษาได้ตามความต้องการของตนเอง
2. โวหารกรณีเขียนบทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ปัญหาควรใช้บรรยายโวหารเป็นหลัก มีโวหารประกอบ เช่น อุปมาโวหาร สาธกโวหาร เทศนาโวหาร เป็นต้นเพื่อแสดงเหตุผลโน้มน้าวใจผู้อ่านกรณีเขียนบทความให้ความรู้ทั่วไป ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นหลัก มีโวหารประกอบได้แก่ สาธกโวหารเพื่อให้เกิดความชัดเจนแจ่มแจ้งกรณีเขียนบทความสารคดีท่องเที่ยว บางตอนควรเลือกใช้พรรณนาโวหาร เพื่อให้เห็นความงดงามของทัศนียภาพนอกเหนือจากการใช้บรรยายโวหาร ส่วนโวหารประกอบได้แก่ อุปมาโวหาร สาธกโวหารกรณีที่ต้องการเล่าเกร็ดความรู้ ตำนาน นิทานต่างๆ ประกอบสถานที่กรณีเขียนบทความสัมภาษณ์ บทความกึ่งชีวประวัติ บทความวิจารณ์วรรณกรรม หรือศิลปะแขนงอื่นๆ บทความวิชาการควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นโวหารหลัก ส่วนโวหารประกอบได้แก่ สาธกโวหารกรณีเขียนบทความเชิงธรรมะ ควรเลือกใช้บรรยายโวหารเป็นโวหารหลัก ส่วนโวหารประกอบได้แก่ เทศนาโวหารอุปมาโวหาร และสาธกโวหาร
3. ภาพพจน์การเขียนบทความควรเลือกใช้ภาพพจน์เพื่อสร้างภาพให้เกิดในความคิดตลอดจนเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ หรือความรู้สึกของผู้อ่าน รวมทั้งแสดงอารมณ์ความรู้สึกอย่างแท้จริงของผู้เขียน ภาพพจน์จะทำให้งานเขียนมีอรรถรสมากขึ้นและแสดงลีลาการเขียนของผู้เขียนแต่ละคน บทความทุกชนิดสามารถใช้ภาพพจน์ได้ตามความเหมาะสม เช่น บทความแสดงความคิดเห็นทั่วไป บทความวิเคราะห์ข่าว บทความวิเคราะห์ปัญหา มักจะใช้การอุปมา อุปลักษณ์ปฏิภาคพจน์ อติพจน์ ปฏิปุจฉา นามนัย เป็นต้นบทความสารคดีท่องเที่ยว มักจะเลือกใช้ภาพพจน์เช่น อุปมา อุปลักษณ์ บุคลาธิษฐาน อติพจน์ สัญลักษณ์เป็นต้นส่วนบทความชนิดอื่นๆ มักจะเลือกใช้การอุปมา อุปลักษณ์ ปฏิปุจฉา เป็นต้นแต่บทความวิชาการมักจะไม่ใช้ภาพพจน์ในการเขียนบทความประเภทนี้เพราะต้องการแสดงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน มากกว่าจะให้เกิดภาพ หรืออรรถรสลักษณะของบทความที่ดีบทความที่ดีควรมีลักษณะ 4 ประการ ดังนี้
1. มีเอกภาพ กล่าวคือ เนื้อหาของบทความมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีทิศทางของเนื้อหาเป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อมุ่งสู่ประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอ
2. มีสารัตถภาพ กล่าวคือ ผู้เขียนต้องเน้นย้ำประเด็นสำคัญให้ชัดเจนว่าต้องการนำเสนอแนวคิดสำคัญอะไรด้วยประโยคใจความสำคัญ หรือสาระสำคัญที่โดดเด่นเนื้อความตลอดเรื่องควรกล่าวย้ำประเด็นหลักของเรื่องเสมอๆ
3. มีสัมพันธภาพ กล่าวคือ มีความต่อเนื่องสัมพันธ์กันโดยตลอด ทั้งในด้านการเรียบเรียงถ้อยคำ ข้อความและการจัดลำดับเรื่อง ทุกประโยคในแต่ละย่อหน้า และทุกย่อหน้าในแต่ละเรื่องต้องเชื่อมโยงเข้าด้วยกันด้วยการใช้คำเชื่อมข้อความ ได้แก่ คำบุพบท เช่น กับ แต่ แด่ เพื่อ คำสันธาน เช่น และ รวมทั้ง ตลอดจนนอกจากนี้ คำประพันธสรรพนาม เช่น ที่ ซึ่ง อัน เป็นต้น
4. มีความสมบูรณ์ กล่าวคือ มีความสมบูรณ์ในด้านเนื้อหา มีเนื้อความชัดเจนกระจ่างแจ้งอธิบายได้ครอบคลุมความคิดหลักที่ต้องการนำเสนอ ข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้องหากเป็นความคิดเห็นต้องมีความสมเหตุสมผล นอกจากนี้ต้องมีความสมบูรณ์ด้านการใช้ภาษา คือต้องเลือกใช้ภาษาให้เหมาะสมกับจุดมุ่งหมายการเขียน ประเภทของบทความ เนื้อหาบทความ และกลุ่มผู้อ่านนั่นเองขั้นตอนการเขียนบทความ
1. การเลือกเรื่อง ควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้- เลือกเรื่องที่ตนเองสนใจ เป็นที่น่าสนใจ และคนส่วนใหญ่กำลังสนใจ ทันสมัยทันเหตุการณ์- เลือกเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้ มีประสบการณ์ตลอดจนเป็นเรื่องที่ผู้เขียนต้องการเสนอความคิดแก่ผู้อ่าน- เลือกเรื่องที่ผู้เขียนสามารถหาแหล่งค้นคว้า หรือหาข้อมูลมานำเสนอในงานเขียนได้- เลือกเรื่องที่มีความยาว ความยาก ความง่าย พอเหมาะกับความสามารถของผู้เขียนเวลาที่ได้รับมอบหมาย หน้ากระดาษ และคอลัมน์ที่ตนรับผิดชอบ
2. กำหนดจุดมุ่งหมาย โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าเขียนเพื่ออะไร เช่น ให้ความรู้เสนอความเห็น โน้มน้าวใจ ให้แนวคิดในการดำเนินชีวิต เขียนให้ใครอ่าน เช่น กลุ่มมวลชนกลุ่มผู้มีการศึกษาสูง เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ เป็นต้น
3. กำหนดแนวคิดสำคัญ หรือประเด็นสำคัญ หรือแก่นเรื่อง ต้องกำหนดว่าบทความเรื่องนี้จะเสนอแนวคิดสำคัญ หรือมีแก่นเรื่องอะไรให้แก่ผู้อ่านเพื่อจะได้นำเสนอเนื้อหา ถ่ายทอดถ้อยคำประโยคต่างๆ เพื่อมุ่งสู่แก่นเรื่องนั้น
4. ประมวลความรู้ ความคิด ต้องค้นคว้าหาข้อมูลให้เพียงพอที่จะเขียนจากแหล่งความรู้ต่างๆ หรือการสัมภาษณ์ผู้รู้ ผู้เกี่ยวข้อง เป็นต้น
5. วางโครงเรื่อง กำหนดแนวทางการเขียนว่าจะนำเสนอสาระสำคัญ แยกเป็นกี่ประเด็นประเด็นใหญ่ๆ มีอะไรบ้าง ในประเด็นหลักมีประเด็นย่อยๆ มีตัวอย่าง มีเหตุผลเพื่อสนับสนุนประเด็นหลักอย่างไรบ้าง การวางโครงเรื่องจะช่วยให้เขียนเรื่องได้ง่าย ไปในทิศทางที่ต้องการไม่สับสน ไม่กล่าวซ้ำซาก ไม่นอกเรื่อง
6. การเขียน ได้แก่ - การเขียนขยายความให้ข้อมูลในแต่ละประเด็น มีการอธิบาย ยกเหตุผลประกอบ กล่าวถึงข้อมูลประกอบอาจเป็นสถิติ ตัวเลข ตัวอย่างเหตุการณ์ ตำนาน นิทาน เป็นต้น - เขียนคำนำและสรุปด้วยกลวิธีที่เหมาะสมกับประเภทของเนื้อหาบทความ- การใช้ภาษา ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับจุดมุ่งหมาย การเขียน ประเภทเนื้อหา ดังที่กล่าวมาแล้ว- การสร้างลีลาการเขียนเฉพาะตัว สร้างได้โดยการเลือกใช้ภาษาให้เป็นเอกลักษณ์ เช่นการใช้ระดับภาษาปาก เล่นคารมโวหาร มีคำเสียดสีมีการแสดงความรู้สึกอย่างชัดเจน หรือมีการสร้างคำใหม่มาใช้อยู่เสมอๆ เป็นต้นตัวอย่างบทความ( สุชัญญา วงค์เวสช์ เรียบเรียง)วัยรุ่นกับความรุนแรงนับจากต้นปีที่ผ่านมา จะมีข่าวที่วัยรุ่นก่อความรุนแรงมากมาย เช่นข่าวที่วัยรุ่นใช้ปืนยิงเพื่อนนักเรียนเสียชีวิต ยกพวกตีกันระหว่างสถาบัน และล่าสุดคือเมื่องานคอนเสิร์ตทรัพย์สินทางปัญญา ได้มีวัยรุ่นประมาณ 1,000 คน ยกพวกตีกันจนทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ปัญหาเหล่านี้ จัดว่าเป็นปัญหาทางสังคมที่นับวันได้มีแนวโน้มที่แสดงออกถึงการทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ “วัยรุ่น”เป็นวัยที่ผู้คนมักเรียกกันว่า “วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ” เพราะวัยนี้พยายามที่จะค้นหาความเข้าใจในตนเอง ยิ่งในโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การติดต่อสื่อสารทำได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โลกทัศน์ของวัยรุ่นกว้างขึ้น บางคนก็ค้นพบตนเองในทางที่ถูกต้อง แต่บางคนกลับหันเหไปในทางที่ผิดทำให้เป็นบ่อเกิดของปัญหาที่เราเห็นในปัจจุบันถ้าจะวิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นในขณะนี้ คิดว่าคงจะมีสาเหตุมาจากหลายๆด้าน ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ของวัยรุ่น สภาพครอบครัว สภาพสังคมต่างๆ ที่เป็นตัวหล่อหลอมพฤติกรรมของวัยรุ่นผ่านสื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ วีดีโอ เกม ที่ล้วนมีผลต่อความรุนแรง เข้าไปอยู่ในจิตใต้สำนึก โดยที่เขาเองก็ไม่รู้ตัวสิ่งสำคัญที่สุดที่จะบ่งชี้ถึงพฤติกรรมของวัยรุ่น ก็คือครอบครัวเพราะครอบครัวเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของวัยรุ่น ครอบครัวจะเป็นหน่วยพื้นฐานที่คอยเสริมสร้างประสบการณ์ของเด็กเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ความสัมพันธ์กับบุคลในครอบครัวจะยุ่งยากสลับซับซ้อนมากขึ้น และมักจะเกิดปัญหาขัดแย้งกันเสมอๆ เราจะสังเกตได้ง่ายๆ ว่าวัยรุ่นเริ่มมีความรู้สึกอยากเป็นอิสระ ไม่อยากให้ใครมาบังคับและต้องการเป็นตัวของตัวเอง ดังนั้นส่วนสำคัญที่สุด คือพ่อ แม่ ที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ควรให้คำปรึกษา เข้าใจในชีวิตของเด็กวัยนี้ ไม่ขัดขวาง ห้ามในสิ่งที่เขาต้องการค้นหาแต่ควรให้คำปรึกษาที่ดี เพราะเด็กวัยนี้ ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุโดยทั่วไปแล้วเด็กวัยรุ่นมักจะเกิดความขัดแย้งกับพ่อแม่เสมอทำให้หันเหชีวิตไปหาเพื่อนเป็นส่วนใหญ่กลุ่มเพื่อนจึงเป็นสิ่งแวดล้อมที่วัยรุ่นให้ความสำคัญเหนืออื่นใดจึงเกิดการเกาะติดความเป็นพรรค เป็นพวกสืบเนื่องไปจนถึงความเป็นสถาบัน และยึดถือปฏิบัติกฎเกณฑ์ที่รุ่นพี่ในสถาบันตั้งขึ้น เราจึงเห็นกลุ่มวัยรุ่นต่างสถาบันยกพวกตีกันมาตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ รุ่นพ่อ สืบมาจนถึงรุ่นปัจจุบัน จากสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นใช้ความรุนแรงในการตัดสินปัญหา ทำให้เราเห็นว่าครอบครัวน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดในการปลูกฝังอบรมเด็กสร้างบุคลิกภาพที่ดีให้แก่เด็กเมื่อเขาโตขึ้นและย่างเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ต้องเป็นส่วนสำคัญในการชี้แนวทางการดำเนินชีวิต การแก้ไขปัญหาต่างๆด้วยวิธีที่ถูกต้อง และต้องเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของวัยรุ่น ไม่ดุด่า หรือปล่อยจนเกินไป เพราะสาเหตุเหล่านี้จะทำให้วัยรุ่นกลายเป็นคนที่ก้าวร้าว และตีตัวออกห่างจากครอบครัวไปมั่วสุมกับเพื่อนๆ และเลือกเดินในแนวทางที่ผิดจนกลายเป็นปัญหาของสังคมอย่างที่ปรากฏในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น: